รู้ทัน 4 โรคอันตรายต่อดวงตา

ยิ่งเราอายุมากขึ้นเท่าไหร่ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราก็เสื่อมลงตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน รวมทั้ง “ดวงตา” อวัยวะในการมองเห็นที่สำคัญ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง ที่ส่งผลต่อการมองเห็นอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะ 4 โรคตาสำคัญที่ควรพึงระวัง ได้แก่

1. โรคต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวเกิดขึ้น โดยจะเป็นมากขึ้นตามวัย ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการที่รบกวนต่อการมองเห็น แต่เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งจนต้อกระจกเป็นมากขึ้น จะทำให้การมองเห็นแย่ลง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้ตาบอดอย่างถาวรได้

อาการของต้อกระจก จะมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเหมือนปกติ ทำให้การมองเห็นมีลักษณะขุ่นมัวเป็นฝ้า ทั้งยังทำให้ความสามารถของมองเห็นในที่สลัว หรือตอนกลางคืนลดลง อาจมองเห็นแสงกระจายจากดวงไฟในที่มืด เช่น เวลาขับรถตอนกลางคืนแล้วมีรถสวน  เป็นต้น นอกจากนี้ ความสามารถในการมองเห็นสีก็จะผิดปกติจากความเป็นจริงอีกด้วย



การรักษา ผู้ที่มีอาการของต้อกระจกควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น

2. โรคต้อหิน (Glaucoma) เกิดจากความผิดปกติของขั้วประสาทตาที่มีเส้นใยประสาทนับล้านเส้นเกิดความเสียหาย และความดันในลูกตาสูงผิดปกติ จนส่งผลทำลายเส้นใยประสาท ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการมองเห็นจากลูกตาไปยังสมองเพื่อทำการประมวลเป็นภาพ

อาการของต้อหิน โรคต้อหินชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ต้อหินชนิดเรื้อรัง (Chronic glaucoma) หรือ ต้อหินปฐมภูมิ (Primary glaucoma) โดยจะสูญเสียการมองเห็นบริเวณรอบนอกของลานสายตา การมองเห็นจะแคบลงจนเสมือนมองผ่านท่อ เมื่อเกิดจุดบอดขึ้นในลานสายตาของผู้ป่วยและขยายตัวขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีขอบเขตในการมองเห็นแคบลง หากรักษาไม่ทันการณ์ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ส่วนต้อหินอีกชนิดที่พบได้น้อยกว่า คือ ต้อหินชนิดเฉียบพลัน (Acute angle closure glaucoma) ซึ่งจะทำให้ตามัวลง ตาแดง มีอาการปวดตาอย่างรุนแรง เนื่องจากความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การรักษา การรักษาต้อหินในปัจจุบัน มีทั้งการใช้ยาหยอดตา การใช้เลเซอร์ และการผ่าตัด เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกของโรค มีโอกาสสูงที่จะรักษาการมองเห็นของผู้ป่วยไว้ได้ตลอดไป และสามารถควบคุมอาการของโรคได้ โดยไม่มีการสูญเสียลานสายตาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

3.โรคเอเอ็มดี (Age-related macular degeneration) หรือโรคจุดรับภาพของจอตาเสื่อม เนื่องจากอายุเป็นโรคที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อของจอตา (retina) ส่วนที่รับภาพตรงกลางของลานสายตาและมีความคมชัดของภาพสูงที่สุด ซึ่งโรคนี้จะทำให้เกิดความเสื่อมตัวของเนื้อเยื่อดังกล่าว และทำให้เกิดจุดบอดขึ้นในบริเวณใจกลางของภาพที่เรามองเห็น โดยมี 2 ลักษณะ คือ เอเอ็มดี ชนิดเปียก (wet AMD) และเอเอ็มดี ชนิดแห้ง (dry AMD)



อาการของเอเอ็มดี ทำให้การมองเห็นภาพบิดเบื้ยวโค้งผิดรูป โดยเฉพาะเวลาดูเส้นตรง หรืออ่านหนังสือ การมองเห็นโดยรวมลดลง ภาพไม่มีความชัดเจน อาจมองเห็นเหมือนมีเงาดำ หรือจุดบอด เกิดขึ้นที่บริเวณพื้นที่ตรงส่วนกลางของการมองเห็น

การรักษา หากพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับความชัดเจนของการมองเห็น โดยเฉพาะตรงส่วนกลางของภาพ หรืออาการอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับการเป็นเอเอ็มดี ควรรีบมาตรวจกับจักษุแพทย์โดยเร็ว ผู้ที่เป็น เอเอ็มดี ชนิดแห้ง ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอการดำเนินของโรคได้ ส่วน เอเอ็มดี ชนิดเปียก สามารถรักษาได้ทั้งการใช้ยา การใช้แสงเลเซอร์และการผ่าตัด ผลการรักษาจะดีที่สุดเมื่อรับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคที่แผลยังมีขนาดเล็กอยู่

4.โรควุ้นตาเสื่อม (Vitreous degeneration) เกิดจากวุ้นตาที่อยู่ภายในลูกตา มีการเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นลักษณะเหลวและกลายเป็นสารน้ำเมื่ออายุมากขึ้น โดยเส้นใยโปรตีนซึ่งอยู่ภายในวุ้นตาจะตกตะกอนเป็นลักษณะคล้ายลิ่ม หรือเส้นใยที่หนาขึ้น จนทำให้เกิดเงาตกกระทบลงบนจอประสาทตา ทำให้เราเห็นเป็นเส้น หรือรอยขีด หรือหยากไย่ลอยไปมา ซึ่งเงาที่ลอยไปมานี้ คือ วุ้นตาที่มีการเสื่อมตัว

อาการของวุ้นตาเสื่อม มักจะมองเห็นเส้น หรือหยากไย่ ลักษณะเป็นฝ้าสีเทาหรือดำ และเงานี้จะขยับเล็กน้อยได้เมื่อมีการกลอกตา โดยทั่วไปจะเป็นมากขึ้นอย่างช้าๆ หรือคงที่เป็นเวลานาน หรือในบางรายอาจจางลงได้เอง

โดยทั่วไป วุ้นตาเสื่อมนั้นไม่มีอันตรายและไม่ต้องการการรักษา แต่การเห็นเงาลอยไปมานั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดจากวุ้นตาเสื่อมเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดเงาลอยไปมาจำนวนมาก ร่วมกับการเห็นแสงไฟวาบขึ้นเป็นระยะ หรือมีการสูญเสียลานสายตา ภาวะเช่นนี้อาจบ่งชี้ว่ามีโรคจอประสาทตาลอก หรือในบางรายเงาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากมีความผิดปกติของเส้นเลือดในตาและมีการแตกของเส้นเลือด เช่น ในกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เลือดที่ออกในวุ้นตาก็จะทำให้เกิดเงาเช่นกัน



ดังนั้น ผู้ที่พบว่าตนเห็นเงาลอยไปมา จักษุแพทย์จะแนะนำให้ได้รับการตรวจเพื่อแยกโรค ว่าไม่มีภาวะอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อดวงตานอกเหนือจากการเสื่อมตัวของวุ้นตา นอกจากนี้ ในลูกตาที่มีการอักเสบ มีอุบัติเหตุกระทบกระแทก และในผู้ที่มีสายตาสั้น อาจมีการเสื่อมของเนื้อจอประสาทตาร่วมด้วยกับวุ้นตาที่เสื่อมตัวลง จึงแนะนำให้ผู้ที่มีสภาวะดังกล่าวได้รับการตรวจตา วุ้นตา และจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์

โดย Eye Center โรงพยาบาลเวชธานี